ลุ้น “ภูกระดึง” ยกระดับเป็น “อุทยานมรดกแห่งอาเซียน”

คณะผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพประชุม พิจารณาอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ขึ้นทะเบียนเป็น “อุทยานมรดกแห่งอาเซียน” ของประเทศไทย

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดการประชุมการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วย MS.ลัดสะหมัย สิละวง ดร.โรเบิร์ด มาสเตอร์ และนายทวี หนูทอง

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

นายศุภมิตร จารุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ นำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกแห่งอาเซียนได้แจ้งกำหนดการประเมินอุทยานแห่งชาติภูกระดึงใน ระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2566

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ภายหลังการประชุม คณะผู้เชี่ยวชาญจะลงประเมินพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อตรวจดูสภาพข้อเท็จจริง ตามเกณฑ์การนำเสนอพื้นที่ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะพิเศษทางธรณีสัณฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น คือ มีลักษณะของภูเขาหินทรายยอดตัด (mesa) ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนของทางน้ำผ่านเนื้อหินภูเขาที่มีความคงทนต่างกัน 

กลายเป็นลักษณะของภูเขายอดราบ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน โดยจะเดินขึ้นภูกระดึง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร เพื่อศึกษาระบบนิเวศด้านต่างๆ เช่น ระบบนิเวศระหว่างทาง ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวหน้าผา ( จากผาหมากดูก ถึงผาหล่มสัก) ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวน้ำตก (จากน้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ จนถึงน้ำตกธารสวรรค์) ระบบนิเวศป่าปิด และเดินลงภูกระดึงต่อไป

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะภูมิประเทศ มีความโดดเด่น เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นลักษณะของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวแทนและเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นหินทรายยอดราบหรือเขาโต๊ะเรียกว่า “เมซา” 

อีกทั้งยังประกอบไปด้วย พรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก และยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพองซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาที่หวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

การนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอันมีคุณค่าที่ไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นๆ และด้านการจัดการพื้นที่ที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และเป็นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองของประเทศไทย นอกจากจะเกิดผลดีต่อสภาพแวดล้อมของประเทศแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ภาพ: Facebook แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
มาจาก
ผู้จัดการออนไลน์