เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมถึงต้องห้ามนำของเหลวที่เกิน 100 มิลลิลิตร ขึ้นเครื่องบิน
เนื่องจากเคยมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้พยายามนำของเหลวและสารเคมีบางอย่างขึ้นเครื่องบินเพื่อทำให้เครื่องบินระเบิด และในเวลาต่อมา ICAO จึงมีกฎออกมาเมื่อปี 2550 ว่าของเหลวรวมไปถึงเจล โลชั่น ต่าง ๆ ที่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้นั้น ต้องมีปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิลิตร
ทำไมต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร
ตัวเลขนี้มาจากการทดลองตามหลักการวิทยาศาสตร์ว่าของเหลวปริมาณดังกล่าวไม่สามารถเอามาสร้างหรือประกอบเป็นวัตถุระเบิดที่เป็นอันตรายต่อเครื่องบินได้
แล้วทำไมเดินผ่านจุดตรวจเข้าไปถึงมีเครื่องดื่มจำหน่าย
สินค้าหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงพนักงานขาย ก่อนเข้าเขตอาคารผู้โดยสารด้านในจะต้องผ่านการตรวจสอบทุกครั้ง ว่าสินค้านั้น ๆ สามารถจำหน่ายได้หรือไม่ พนักงานนั้น ๆ จะไม่นำวัตถุประกอบระเบิดเข้ามา ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวค่อนข้างเข้มงวดกว่าผู้โดยสาร
ปริมาณของเหลวที่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้
- ของเหลวต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (นับตามขนาดของบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ขนาด 500 มิลลิลิตร แต่มีของเหลวในนั้นเพียง 20 มิลลิลิตร ก็ไม่อนุญาต)
- บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ของเหลวไว้ต้องใส่ลงซองใสขนาด 20 x 20 เซ็นติเมตร
- ของเหลวในซองใสที่พาขึ้นเครื่องรวมแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร
แล้วถ้าของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตร ต้องทำอย่างไร
- โหลดใต้ท้องเครื่อง
- ส่งไปกับไปรษณีย์
- ทิ้ง
ICAO คือใคร
ICAO หรือ ชื่อเต็ม ๆ คือ The International Civil Aviation Organization หรือแปลเป็นไทยคือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ มีสมาชิก 192 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งที่ประเทศแคนนาดา และมีสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร
ICAO มีหน้าที่ออกข้อระเบียบ ข้อบังคับสำหรับกิจกรรมการบินระหว่างชาติ ไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่กรมการบินพลเรือนส่วนมากจะออกกฎหมายให้อ้างอิงถึงกฎข้อบังคับของ ICAO