ทริปการเดินทางปะเที่ยวกัน

ทริปเที่ยว: กรุงเทพ – ปีนัง งบ 3,xxx บาท เที่ยวเองด้วยรถไฟ 6 วัน 5 คืน

เส้นทาง: กรุงเทพมหานคร (ไทย) – ปีนัง (มาเลเซีย)
ระยะเวลา: 6 วัน 5 คืน
วันที่เดินทาง: 25 สิงหาคม 2562 – 30 สิงหาคม 2562
แผนการเดินทาง:

เวลา รายละเอียด
วันแรก (25 สิงหาคม 2562)
14.30 น. เดินทางถึง สถานีชุมทางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร (ประเทศไทย)
15.30 น. เดินทางออกจาก สถานีชุมทางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ไปยัง ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย โดยรถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 45 ใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง
วันที่สอง (26 สิงหาคม 2562)
09.30 น. เดินทางถึง ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย
12.25 น. ตามเวลาของมาเลเซีย เดินทางออกจากปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ไปยัง บัตเตอร์เวิร์ท ประเทศมาเลเซีย โดย รถไฟฟ้า KTM ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที
14.20 น. ถึงบัตเตอร์เวิร์ท
15.10 น. ออกเดินทางจาก บัตเตอร์เวิร์ท ไปยัง เกาะปีนัง โดยเรือเฟอร์รี่ ใช้เวลา 20 นาที
15.30 น. ถึงยังเกาะปีนัง และออกเดินทางต่อไปยังโรงแรม โดยการเดินประมาณ 10 นาที
15.40 น. ถึงยังโรงแรมคอนเทนเนอร์ โฮเต็ล ปีนัง (Container Hotel Penang)
16.45 น. ออกเดินทางจากโรงแรมที่พัก ไปยัง ตลาดถนนเพลสเกรฟ (Presgrave Street Hawker Centre) โดยการเดิน ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
  ระหว่างทาง เดินเล่น ๆ เรื่อยเปื่อย
18.10 น. ถึง ตลาดถนนเพลสเกรฟ
19.00 น. เดินเล่นในห้าง 1st Avenue อยู่ใกล้ ๆ กับ ตลาดถนนเพลสเกรฟ
19.50 น. ออกจากห้าง 1st Avenue ไปยัง ตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่
20.00 น. ถึงตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ (Kimberley Street Food Night Market)
20.30 น. ออกจากตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ กลับเข้าที่พัก
21.00 น. ถึงที่พัก
วันที่สาม (27 สิงหาคม 2562)
09.25 น. ออกเดินทางจากโรงแรม ไปยัง วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) ใช้เวลาเดินทาง 50 นาที โดยรถประจำทางสาย 203
10.10 น. ถึงวัดเก็กลกสี่
13.15 น. ออกเดินทางจากวัดเก็กลกสี่ ไปยัง ปีนังฮิลล์ (Penang Hill) โดยรถประจำทางสาย 204 ใช้เวลาเดินทาง 5 นาที
14.20 น. ถึง ปีนังฮิลล์
16.30 น. ออกเดินทางจากปีนังฮิลล์ (Penang Hill) ไปยัง 1st Avenue ใช้เวลาประมาณ 50 นาที โดยรถประจำทางสาย 204
17.20 น. ถึงห้าง 1st Avenue
20.45 น. ออกจากห้าง 1st Avenue ไปยัง ตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่
20.50 น. ถึงตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่
21.30 น. ออกจาก ตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ ไปยัง ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย
22.30 น. ถึง ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย
23.00 น. กลับเข้าสู่โรงแรมที่พัก
วันที่สี่ (28 สิงหาคม 2562)
11.20 น. ออกเดินทางจากโรงแรม ไปยังวัดฮานเจียง โดยการเดิน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที (มีแวะซื้อกาแฟ) 
11.45 น. ถึงวัดฮานเจียง
11.50 น. ออกเดินทางจากวัดฮานเจียง ไปยัง Yeap Noodles Cafe โดยการเดิน ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
12.00 น. ถึงร้าน Yeap Noodles Cafe
12.30 น. ออกจากร้าน Yeap Noodles Cafe ไปยัง วัดเทียนหัว
12.40 น. ถึงวัดเทียนหัว (Thean Hou Temple)
13.00 น. ออกจากวัดเทียนหัว ไปยัง วัดแย็บ และ วัดฮกเต็กเจี่ยสิน
13.30 น. ถึงวัดแย็บ และ วัดฮกเต็กเจี่ยสิน
13.45 น. ออกจากวัดฮกเต็กเจี่ยสิน ไปยัง บ้านสกุลคู
14.15 น. ถึงบ้านสกุลคู (Khoo Kongsi)
14.40 น. ออกจากบ้านสกุลคู ไปยัง Seoul Garden และแวะระหว่างทาง
15.50 น. ถึง Seoul Garden ในห้าง 1st Avenue
17.10 น. ออกจาก Seoul Garden ไปยัง หมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty
18.00 น. ถึงหมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty
18.50 น. ออกจากหมู่บ้านชาวประมง เดินเล่นรอบเมือง
22.50 น. ถึงยัง Ah Lan Cafe
23.15 น. ออกจาก Ah Lan Cafe กลับสู่ที่พัก
วันที่ห้า (29 สิงหาคม 2562)
11.00 น. ออกเดินทางจากโรงแรมที่พัก (Checkout) เดินทางสู่ท่าเรือเฟอร์รี่
11.20 น. ออกเดินทางจากเกาะปีนัง ไปยัง บัตเตอร์เวิร์ท โดยเรือเฟอร์รี่ ใช้เวลา 20 นาที
11.40 น. ถึงยัง บัตเตอร์เวิร์ท (Penang Sentral)
12.25 น. ออกเดินทางจาก บัตเตอร์เวิร์ท ไปยัง ปาดังเบซาร์ โดย รถไฟฟ้า KTM ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที
14.15 น. ถึงปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย
17.00 น. ออกเดินทางจาก ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ไปยัง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยรถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 46 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 ชั่วโมง
วันที่หก (30 สิงหาคม 2562)
11.00 น. เดินทางถึง สถานีชุมทางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร (ประเทศไทย) โดยสวัสดิภาพ

รายละเอียดการเดินทาง

วันแรก (25 สิงหาคม 2562)

เวลา 14.00 น. ออกเดินทางจากนนทบุรี อำเภอบางใหญ่ ด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน จากสถานี “สามแยกบางใหญ่” ไปยังสถานี “บางซื่อ”

ชุมทางบางซื่อ
ชุมทางบางซื่อ

เวลา 14.30 น. เดินทางมาถึงสถานีไฟบางซื่อ หรือ สถานีชุมทางบางซื่อ ซึ่งเราได้ซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าไว้แล้ว เป็นตั๋วโดยสาร รถด่วนพิเศษ ขบวนรถที่ 45 ตู้นอนชั้นบน-ล่าง ต้นทาง สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ปลายทาง ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) ราคา 870 และ 960 บาท ขบวนรถนี้ เป็นขบวนรถเดียวที่เดินทางจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าปาดังเบซาร์ ซึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซียได้เลย

ตั๋วโดยสาร กรุงเทพ - ปาดังเบซาร์
ตั๋วโดยสาร กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์

เวลา 15.30 น. ออกเดินทางจากสถานีชุมทางบางซื่อ มุ่งหน้าสู่ สถานีปาดังเบาซาร์ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเราอยู่ใกล้กับบางซื่อ เราเลยเลือกขึ้นรถไฟที่นี่ ทำให้เวลาคลาดเคลื่อนจากหน้าตั๋วไป ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 ชั่วโมง

ที่นั่งในรถไฟ
ที่นั่งในรถไฟ

อ่านรีวิวรถไฟ กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ แบบเต็มได้ที่นี่

ระหว่างทางแถว ๆ นครปฐม จะมีคนขายขึ้นมาขายบะหมี่แห้ง เป็นหมี่เหลืองแห้งลูกชิ้นปลา 1 ลูก ถ่วงอก และเครื่องปรุง ราคาเพียง 10 บาทต่อห่อเท่านั้นเอง รสชาติอร่อยมาก แนะนำต้องลองสักห่อ แล้วคุณจะไม่หยุดที่หนึ่งห่ออย่างแน่นอน

บะหมี่ผัด
บะหมี่ผัด

วันที่สอง (26 สิงหาคม 2562)

เวลา 09.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยประมาณ หลังจากนั่ง ๆ นอน ๆ กิน ๆ บนรถไฟเป็นเวลากว่า 18 ชั่วโมงแล้ว ในที่สุดเราก็เดินทางถึง ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สถานีปาดังเบซาร์ มาเลเซีย
สถานีปาดังเบซาร์ มาเลเซีย

หลังจากมาถึงแล้ว เราก็ต้องผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง โดยใช้ Passport ไทยฝั่งไทยต้องประทับออก และเดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งอยู่ห้องเดียวกันแต่คนละฝั่ง ภายในจะมีป้ายบอกทาง (เจ้าหน้าที่ที่นี่สามารถพูดได้ทั้งไทยและอังกฤษ)

ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สถานีปาดังเบซาร์
ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สถานีปาดังเบซาร์

หลังจากผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีบันไดขึ้นไปยังชั้น 2 เพื่อไปซื้อตั๋วรถไฟฟ้า KTM Komuter เส้นทาง ปาดังเบซาร์ (Padang Besar) > บัตเตอร์เวิร์ท (Butterworth) ระยะทาง 170 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 50 นาที ในการเดินทาง ราคา 11.40 ริงกิต (85 บาท) เป็นการซื้อตั๋วแบบไม่ระบุเวลาขึ้น และไม่ระบุที่นั่ง ซึ่ง 10:45 ที่แสดงในตั๋วคือเวลาที่เรามาซื้อตั๋ว

ตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า KTM ปาดังเบซาร์ - บัตเตอร์เวิร์ท
ตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า KTM ปาดังเบซาร์ – บัตเตอร์เวิร์ท

เที่ยวรถไฟฟ้าจะมีจอแสดงผลเที่ยวรถที่จะเข้าล่าสุด B’WORTH คือปลายทางไปบัตเตอร์เวิร์ท รถจะเข้ารอบ 12.25 13.25 และ 14.25 ตามลำดับ เวลาด้านบนสีเขียว ๆ จะเป็นเวลาของประเทศมาเลเซีย อยู่แถว ๆ ด่านชายแดนนแบบนี้จะงง ๆ เรื่องเวลาหน่อย หากเวลาของประเทศนั้น ๆ ไม่ตรงกับของเรา โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ถึงแม้จะอยู่ติดประเทศไทย พอข้ามเขตไปยังมาเลเซียแล้ว เวลาที่มาเลเซียก็จะเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมงทันที

จอแสดงเที่ยวรถไฟฟ้า KTM Komutor
จอแสดงเที่ยวรถไฟฟ้า KTM Komutor

อันนี้จะเป็นรอบรถไฟฟ้า KTM Komutor เส้นทาง ปาดังเบซาร์ – บัตเตอร์เวิร์ท

ออกจากปาดังเบซาร์ มุ่งหน้าสู่ บัตเตอร์เวิร์ท เริ่มที่เวลา 05:25 06:25 07:25 08:25 10:25 12:25 13:25 14:25 15:25 16:25 17:25 18:25 19:25 และเที่ยวสุดท้าย 21:25

ส่วนขากลับ บัตเตอร์เวิร์ท มุ่งหน้าสู่ ปาดังเบซาร์ เริ่มที่เวลา 05:25 06:25 07:25 08:25 10:25 12:25 13:25 14:25 15:25 16:25 17:25 18:25 19:25 และเที่ยวสุดท้าย 21:25

เพื่อน ๆ สามารถวางแผนการเดินทางได้เอง และขอย้ำอีกที อย่าลืมเปลี่ยนเวลาจากไทยเป็นเวลามาเลเซีย เหมือนผมมาถึงเวลา 09.30 น. คิดว่าจะทันรถรอบ 10.25 น. จริง ๆ ไม่ทัน เพราะ 09.30 น. คือเวลาไทย พอแปลงเป็นเวลามาเลเซียแล้ว จะเป็น 10.30 น. ซึ่งรถรอบ 10.25 น. ได้ออกไปแล้ว จึงต้องรอรอบถัดไป คือ 12.25 น.

รอบรถไฟฟ้า KTM Komutor
รอบรถไฟฟ้า KTM Komutor

หลังจากได้ตั๋วแล้ว ก็สามารถเดินมาหาของกิน หรืออาหารเช้าได้จากบริเวณนี้ได้เลย มีทั้งข้างแกง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมนมเนยต่าง ๆ น้ำดื่ม เครื่องดื่มต่าง ๆ ก็หาซื้อได้ หาทานรองท้อง หรือทานจริงจังได้ตรงนี้เลย

ร้านอาหารและร้านขายของบริเวณชั้น 2
ร้านอาหารและร้านขายของบริเวณชั้น 2

ป้ายบอกทาง ว่าชานชลาที่ 1-2 ไปทางไหน ลิฟท์ไปทางไหน ก็มีบอกไว้พร้อม แต่ที่นี่มีทริกง่าย ๆ ไม่ต้องไปสนใจป้ายอะไรทั้งนั้น เพราะ ชานชลาที่ 1 กับ 2 อยู่ที่เดียวกัน เพราะเป็นชานชลากลางฝั่งหนึ่งเป็น 1 อีกฝั่งเป็น 2 แต่ละที่สามารถเดินทะลุได้หมด แม้กระทั่งด่านตรวจคนเข้าเมืองก็เข้าออกได้สะดวก

ป้ายบอกทาง
ป้ายบอกทาง

เวลา 12.25 ก็ถึงเวลาออกเดินทาง มุ่งหน้าสู่ บัตเตอร์เวิร์ท ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที 12 สถานี

ชานชลา 2
ชานชลา 2

บรรยากาศภายในขบวนรถ KTM Komutor คล้าย ๆ BTS บ้านเราแต่เป็นเบาะกำมะหยี่นุ่ม ตัวรถโดยรวมถือว่าพอใช้ เพราะมีบางโซน บางตู้หน้าต่างกระจกร้าว ถึงแม้ KTM จะแยกตู้ผู้หญิง แต่ก็มีผู้ชายขึ้นไปเยอะเหมือนกัน วัฒนธรรมคล้าย ๆ คนไทย

ภายในขบวนรถ KTM Komutor
ภายในขบวนรถ KTM Komutor

เวลา 14.20 น. ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงสถานีบัตเตอร์เวิร์ท แล้ว ให้เดินขึ้นบันไดไปตามทางจะมีเจ้าหน้าที่คอยเก็บตั๋วด้วย อย่าทำหาย เพราะถ้าหายต้องเสียค่าปรับ 30 ริงกิต (220 บาท)

สถานีบัตเตอร์เวิร์ท
สถานีบัตเตอร์เวิร์ท

หลังจากผ่านด่านเจ้าหน้าที่เก็บตั๋วแล้ว เราก็จะเดินมุ่งหน้าสู่ท่าเรือเฟอร์รี่ เพื่อข้ามไปยังเกาะปีนัง ให้เดินตามทางไปเรื่อย ๆ จะมีป้ายบอกเป็นระยะ Feri ก็คือ Ferry เดินไปโลด

ป้ายบอกทางไปท่าเรือเฟอร์รี่
ป้ายบอกทางไปท่าเรือเฟอร์รี่

เมื่อเดินจนสุดทางจะมีป้ายใหญ่ ๆ บอกว่า Feri (Ferry Penang Sentral) ลงไปข้างล่างให้ใช้ลิฟท์เพื่อลงไปด้านล่าง

ป้ายบอกทางไป Feri
ป้ายบอกทางไป Feri

เมื่อถึงด้านล่างแล้ว ให้เดินตรงไปตามป้ายบอก ช่วงที่มากำลังมีการก่อสร้าง มองตรงไปจะมีกำแพงแดง ๆ อยู่ให้เดินตรงไปถึงกำแพงนั้น จะป้ายบอกให้เลี้ยวซ้าย

ป้ายบอกทาง ด้านล่าง
ป้ายบอกทาง ด้านล่าง

จริง ๆ เราสามารถไปยังรถประจำทาง เท็กซี่ และเรือเฟอร์รี่ได้ แต่ครั้งนี้เราเลือกจะไปเรือเฟอร์รี่ เดินไป

ป้ายบอกทาง ให้เลี้ยวซ้าย
ป้ายบอกทาง ให้เลี้ยวซ้าย

เมื่อเดินมาเรื่อย ๆ สังเกตทางซ้ายมีจะมีลิฟท์ กดลิฟท์ขึ้นไปที่ชั้น 2 อาจจะงง ๆ หน่อย เพราะมีการก่อสร้างอยู่

ลิฟท์ไปยังท่าเรือ
ลิฟท์ไปยังท่าเรือ

ถึงชั้นสองแล้วก็เดินตามป้ายที่แปะไว้ไปเรื่อย ๆ จะเป็นเหมือนกับห้าง ๆ หนึ่ง มีของขายเยอะเยะเต็มไปหมด และจะมีเค้าเตอร์ขายตั๋วรถบัสด้วย อย่าเพิ่งสับสน เราไปเรือ เดินตรงไปอีกจะเจอคล้าย ๆ ทางออกแต่จะมีป้ายเขียนว่า Terminal Feri (Ferry Terminal) อยู่

ชั้น 2
ชั้น 2

เดินตรงไปได้เลย ไปเรื่อย ๆ อีกแปปจะเจอเค้าเตอร์ขายตั๋วเรือเฟอร์รี่ หากใครหิว หรืออยากเดินตากแอร์เล่น ใน Penang Sentral นี้ก็สามารถเลือกกิน เลือกช้อปได้เลย

ป้าย Ferry Terminal
ป้าย Ferry Terminal

เห็นแล้วเค้าเตอร์จำหน่ายตั๋วเรือเฟอร์รี่ เดินไปเข้าคิวเลย เรือเฟอร์รี่ให้บริการโดย RapidFerry

เค้าเตอร์จำหน่ายตั๋วเรือเฟอร์รี่
เค้าเตอร์จำหน่ายตั๋วเรือเฟอร์รี่

ตั๋วเรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังเกาะปีนัง ราคา 1.20 ริงกิต (9 บาท) การข้ามด้วยเรือเฟอร์รี่นั้น เสียค่าเดินทางเฉพาะขาไป ขากลับ กลับฟรี ฉะนั้น 9 บาท ไป-กลับ เหลือเที่ยวละ 4.50 บาท เท่านั้นเอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-20 นาที

ตั๋วเรือเฟอร์รี่
ตั๋วเรือเฟอร์รี่

เวลา 15.10 น. ได้เวลาลงเรือเฟอร์รี่ มุ่งหน้าสู่เกาะปีนัง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-20 นาที ตั๋วเรือเป็นตั๋วไม่ได้ระบุที่นั่ง สามารถเลือกนั่งหรือยืนตามสบาย ขาไปเราได้ยืนเพราะไม่มีเก้าอี้สักตัว

ลงเรือเฟอร์รี่
ลงเรือเฟอร์รี่

20 นาทีไม่นานมาก เพราะวิวที่ได้สวยงามมาก ลมดี ๆ มองวิวเรื่อย ๆ แปปเดียวเดี๋ยวก็ถึงฝั่ง

วิวเมืองปีนัง (ตึก Komtar) จากเรือเฟอร์รี่
วิวเมืองปีนัง (ตึก Komtar) จากเรือเฟอร์รี่

เวลา 15.30 น. ในที่สุดก็เดินทางทางถึงเกาะปีนังแล้ว เราจะมุ่งหน้าสู่ที่พักที่ได้จองไว้ ให้เดินออกจากท่าเรือข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินตามฟุตบาทไปเรื่อย ๆ จนถึงถนนชูเลีย (Chulia Lebuh) เลี้ยวเข้าถนนนี้เพียงเล็กน้อยก็ถึงโรงแรมของเราแล้ว

ท่าเรือเฟอร์รี่เกาะปีนัง
ท่าเรือเฟอร์รี่เกาะปีนัง

เวลา 15.40 น. ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เราก็เดินทางมาถึง โรงแรมคอนเทนเนอร์ โฮลเต็ล ปีนัง (Container Hotel Penang) Checkin เอาของเข้าไปเก็บ อาบน้ำอาบท่าสักหน่อย เกือบ ๆ 24 ชั่วโมงที่ไม่ได้อาบน้ำเลย เที่ยวต่อเลยอาจโดนแช่งได้

อ่านรีวิวโรงแรมคอนเทนเนอร์ โฮลเต็ล ปีนัง (Container Hotel Penang) แบบเต็มได้ที่นี่

โรงแรมคอนเทนเนอร์
โรงแรมคอนเทนเนอร์

เวลา 16.45 น. ออกเดินทางจากที่พักเพื่อไปหาของกินสักหน่อย ที่ตลาดถนนเพลสเกรฟ ระหว่างทางก็แวะถ่ายรูปสวย ๆ ตามจุดต่าง ๆ

ร้าน The Postcard Shop เป็นขายโพสต์การ์ด ตกแต่งสไตล์ย้อนยุคเหมือนราวกับว่าย้อนไปในอดีต เลือกซื้อโพสต์การ์ดแล้วส่งกลับบ้าน ซึ่งในอดีตการทำแบบนี้ถือว่าได้รับความนิยมมากเลยทีเดียว ร้านนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมที่พักเลย

ร้าน The Postcard Shop
ร้าน The Postcard Shop

ร้าน Heritage Cookies น่าจะเป็นร้านคาเฟ่หรือร้านเบเกอร์รี่ ดูรูปแบบแล้วน่าจะย้อนยุคหน่อย ร้านนี้อยู่ใกล้ ๆ กันกับร้าน The Postcard Shop

ร้าน Heritage Cookies
ร้าน Heritage Cookies

ร้าน Kapitan เป็นร้านอาหารสไตล์อินเดีย และชากาแฟแบบ Claypot ด้วย ใครอยากลองชิมก็ลองแวะเข้ามาได้

ร้าน Kapitan
ร้าน Kapitan

แวะผ่านมาแถว ๆ 7-11 ไม่ไกลจากโรงแรมมากนัก แวะชิมน้ำอัดลมสักหน่อย Pepsi Max แบบไม่มีน้ำตาล ลายธงชาติมาเลเซีย 62 ปีที่ได้คืนเอกราช รสชาติเหมือนบ้านเรามาก

แป๊ปซี่แม็กซ์ ธงชาติมาเลเซีย
แป๊ปซี่แม็กซ์ ธงชาติมาเลเซีย

ร้าน Lei Lou Mei เป็นร้านคาเฟ่ แต่งสไตล์โรงเตี้ยม ใครเดินผ่านมาทางนี้ลองแวะมาชิมได้

ร้าน Lei Lou Mei
ร้าน Lei Lou Mei

บ้านเรือนในเมืองปีนังนั้นส่วนมากจะเน้นไปสไตล์จีน เนื่องจากว่าคนจีนได้อพยพมาอยู่บนเกาะนี้จำนวนมาก และบ้านเรือนก็ได้คงเอกลักษณ์และรูปแบบเดิม ๆ เพราะปีนังเองได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้รักษารูปแบบบ้านเดิม ๆ ไว้ได้

บ้านเรือน
บ้านเรือน

เวลา 18.10 น. เดินผ่านหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างมาเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ถึงตลาดถนนเพลสเกรฟ (Presgrave Street Hawker Centre) เป็นตลาดเล็ก ๆ มีร้านค้าไม่กี่ร้าน แต่จะบอกว่าอร่อยเด็ดทุก ผมชิมหมดทุกร้านเลย ตลาดจะเปิดให้บริการ วันศุกร์ – วันพุธ เวลา 17.30 – 23.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)

อ่านรีวิว ตลาดถนนเพลสเกรฟ (Presgrave Street Hawker Centre) แบบเต็มได้ที่นี่

ตลาดถนนเพลสเกรฟ (Presgrave Street Hawker Centre)
ตลาดถนนเพลสเกรฟ (Presgrave Street Hawker Centre)

เวลา 19.00 น. พออิ่มแล้วก็มาเดินย่อย และเดินตากแอร์ในห้าง 1st Avenue ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับตลาดถนนเพลสเกรฟ เลย ในห้างก็เหมือนบ้านเราทั่ว ๆ ไป มีทั้งของใช้ ของกิน ชานม มีหมด แต่ที่สังเกตคนเดินน้อยมากไม่รู้เป็นเพราะอะไร เพราะถ้าเวลานี้บ้านเราคนจะค่อนข้างเยอะแล้ว

ห้าง 1st Avenue
ห้าง 1st Avenue

เวลา 19.50 น. เดินย่อย เข้าห้องน้ำ กันเสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางจากห้าง 1st Avenue ไปยังตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ ไปหาของกินยามราตรีกันต่อ งานนี้เพื่อกิน

เวลา 20.00 น. ถึงตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ (Kimberley Street Food Night Market) เป็นตลาดกลางคืน มีร้านอาหารให้เลือกกินมากมาย เช่น ก๋วยเตี๋ยว LOK-LOK  เป็นสวรรค์ของนักกินเลย เปิดให้บริการทุกวัน พฤหัสบดี – อังคาร เวลา 17.00 – 23.00 น. (ปิดวันพุธ)

อ่านรีวิวตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ (Kimberley Street Food Night Market) ฉบับเต็มได้ที่นี่

ร้านอาหารตามสองข้างทาง
ร้านอาหารตามสองข้างทาง

เวลา 20.30 น. ออกจากตลาดคิมเบอร์ลี่ กลับที่พักเพื่อพักผ่อน เตรียมแรงสำหรับวันพรุ่งนี้

ร้านอาหารยามค่ำคืน
ร้านอาหารยามค่ำคืน
Street Art สมัยใหม่
Street Art สมัยใหม่

เวลา 21.00 น. ถึงที่พัก

วันที่สาม (27 สิงหาคม 2562)

เวลา 09.00 น. ออกจากโรงแรมไปเก็บภาพ Street Art ในตำนานก่อน ซึ่งอยู่ในซอยตรงข้างกับโรงแรม มีด้วยกัน 2 ภาพเลย

ภาพ Street Art ชิงช้า
ภาพ Street Art ชิงช้า
ภาพ Street Art ยายขายนมถั่วเหลือง (Susu Soya Asli & Segar)
ภาพ Street Art ยายขายนมถั่วเหลือง (Susu Soya Asli & Segar)

เวลา 09.25 น. ออกเดินทางจากโรงแรม เพื่อที่จะเดินทางไปยังวัดเก็กลกสี่ ซึ่งป้ายรถประจำทางก็อยู่หน้าโรงแรมเลย โดยใช้รถประจำทาง RapidPenang สาย 203 ค่าโดยสาร 2 ริงกิต (15 บาท) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที

ตั๋วโดยสาร Penang Rapid ไปวัดเก็กลกสี่
ตั๋วโดยสาร Penang Rapid ไปวัดเก็กลกสี่

เวลา 10.10 น. ถึงวัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) หรือ วัดเขาเต่า หรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ Temple of Supreme Bliss เป็นวัดจีนพุทธ นิกายมหายาน ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในย่าน แอร์-อิเท็ม (Air itam) เป็นวัดที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง และใช้เวลาเดินภายในวัดนานมาก เนื่องจากวัดมีขนาดใหญ่และอยู่ตามตีนเขา แต่เหนื่อยแล้วคุ้ม

อ่านรีวิว วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) ฉบับเต็มได้ที่นี่

วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si)
วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si)

เวลา 13.15 น. ออกเดินทางจากวัดเก็กลกสี่ ไปยัง ปีนังฮิลล์ โดยรถประจำทางสาย 204 ราคา 1.40 ริงกิต (10 บาท) ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

ตั๋วรถประจำทาง มายังปีนังฮิลล์
ตั๋วรถประจำทาง มายังปีนังฮิลล์

เวลา 14.20 น. มาถึงปีนังฮิลล์ (Penang Hill) แต่เป็นชั้น 1 (Lower Station) เราต้องขึ้นไปข้างบนด้วยรถราง ราคา 30 ริงกิต (220 บาท)  ราคานี้เป็นราคาไป-กลับแล้ว ปีนังฮิลล์เป็นจุดที่สูงที่สุดในปีนัง สามารถมองเห็นเมืองได้ทั้งเมือง อากาศดีมาก มีกิจกรรมที่หลากหลาย ใครมาปีนังแล้วไม่ได้มาปีนังฮิลล์ถือว่าพลาดมากต้องมาให้ได้เลย

อ่านรีวิว ปีนังฮิลล์ (Penang Hill) ฉบับเต็มได้ที่นี่

วิวจากจุดที่พัก
วิวจากจุดที่พัก (ปีนังฮิลล์)

เวลา 16.30 น. ออกเดินทางจากปีนังฮิลล์ มุ่งหน้าสู่ ห้าง 1st Avenue 

เวลา 17.20 น. ถึงห้าง 1st Avenue แวะหาอะไรกินสักหน่อยที่ Food Avenue @ 1st Avenue ชั้น 4 เป็นเหมือนศูนย์อาหารในห้าง ชื่อร้านว่า UNCLE KIN CHILLI PAN MEE ได้สั่งเมนูแรกเป็น Signature Dry Pan Mee เป็นหมี่แห้ง + ไข่ + ปลากรอบ + ซอสปรุงรส อร่อยถูกปากคนไทย ราคา 7.50 ริงกิต (55 บาท)

Signature Dry Pan Mee
Signature Dry Pan Mee

เมนูที่สองของร้านเดียวกันเป็นเมนู Fish Ball Soup เป็นซุปลูกชิ้นปลา รอยปลากรอบ อร่อยแปลกแหวกแนวดี ที่นี่เน้นใส่ปลากรอบแทนหมูกรอบ ผมว่าความคืดสร้างสรรค์ดี ราคาถ้วยนี้ 4.50 ริงกิต (35 บาท)

Fish Ball Soup
Fish Ball Soup

ถัดมาอีกร้านอยู่ชั้น 4 เหมือนกันคือร้าน Empire Sushi แต่ไม่ได้พามากินซูชิ เราพามากิน “ODEN” หรือ โอเด้ง ไปดูกันว่าตาจะเป็นแบบไหน น่าอร่อยไหม

ร้าน Empire Sushi
ร้าน Empire Sushi

นี่คือโอเด้งที่สั่งไป มีลูกชิ้นปลา 2.60 ริงกิต (20 บาท) ทอดมันปลา 2.60 ริงกิต (20 บาท) และ ลูกชิ้นปลาแผ่น 3 ริงกิต (22 บาท) เลือกเป็นน้ำต้มยำ อร่อยเด็ดอย่าบอกใครเชียว

โอเด้ง
โอเด้ง

กินของคาวกันเสร็จแล้ว หาของหวานกินบ้างดีกว่า เดินไปอีกห้างหนึ่งคือ ห้าง Prangin Mall (แพลนกินมอลล์) ซึ่งอยู่ติดกับ 1st Avenue มีทางเชื่อเดินต่อกันได้ มากันที่ร้าน Little Oasis สั่งเป็น Mango Ice Floss คล้าย ๆ บิงชู รสมะม่วง มีท๊อปปิ้งให้ด้วย ราคา ถ้วยละ 9.90 + ค่าบริการ 0.5 ริงกิต รวม 10.40 ริงกิต (77 บาท)

Mango Ice Floss - Little Oasis - Prangin Mall
Mango Ice Floss – Little Oasis – Prangin Mall

เวลา 20.45 น. ออกเดินทางจาก Prangin Mall ไปยังตลาดกลางคืนคิมเบอร์ลี่ อีกครั้ง ยังติดใจต้มต้ม LOK-LOK อยู่เลยมากินอีกรอบ

เวลา 20.50 น. ในที่สุดก็มาถึงตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่แล้ว มุ่งหน้าไปที่เดิมคือร้าน LOK-LOK น้ำจิ้มฟิน ๆ มีรายการอาหารให้เลือกหลากลาย ไม่ว่าจะเป็น ปลาหมึก ปลา แฮม เกี๋ยว ไส้กรอก เห็ด ต้มกันให้ฟินไปเลย

อ่านรีวิวตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ (Kimberley Street Food Night Market) ฉบับเต็มได้ที่นี่

อาหาร LOK-LOK
อาหาร LOK-LOK

เวลา 21.30 น. ออกจากตลาดกลางคืนถนนคิมเบอร์ลี่ มุ่งหน้าไปยัง ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย

เวลา 22.30 น. ถึงศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ศาลเจ้าพ่อเห้งเจียที่นี่เป็นศาลเจ้าพ่อเห้งเจียแห่งเดียวในเมืองปีนัง ตั้งอยู่บนถนน Pengkalan Weld เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ สด ๆ ร้อน ๆ เล็ก ๆ แต่สวยงามมากอยู่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก ใครผ่านมาแถว ๆ นี้ลองมาแวะขอพรได้

อ่านรีวิวศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ฉบับเต็มได้ที่นี่

ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย
ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย

ตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อเห้งเจียจะมีศูนย์อาหาร (Food Court) ด้วย ชื่อว่า The Jetty Food Court ใครไม่รู้ว่าจะไปกินอะไรที่ไหน ลองแวะมาดูที่นี่ได้ มีหลากหลายร้านให้เลือก หลากหลายเมนูเลยทีเดียว

ป้าย The Jetty Food Court
ป้าย The Jetty Food Court
The Jetty Food Court
The Jetty Food Court

เวลา 23.00 น. กลับเข้าที่พัก พักผ่อนเก็บพลังเพื่อวันต่อไป

วันที่สี่ (28 สิงหาคม 2562)

เวลา 11.20 น. แอบตื่นสายไปหน่อย และวันนี้ก็มีภาระกิจอีกเพียบ ได้เวลาออกจากโรงแรมที่พัก มุ่งหน้าไปยัง วัดฮานเจียง ก่อนไปถึงแวะหากาแฟดื่มกันสักแถ้ว เลยแวะร้าน 7-11 ระหว่างทางไปวัด หยิบเป็นกาแฟถ้วยของ Nescafe รส คาราเมลมัคคิอาโต้ (Caramel Macchiato) 1 แก้ว ราคา 7.5 ริงกิต (55 บาท)

กาแฟถ้วยสำเร็จรูป Nescafe
กาแฟถ้วยสำเร็จรูป Nescafe

เวลา 11.45 น. ถึงวัดฮานเจียง (Han Jiang Ancestral Temple) ตั้งอยู่บนถนนชูเลีย (Chulia Street) เป็นวัดจีนของชาวแต้จิ๋วแห่งเดียวในเมืองปีนัง ได้รับรางวัลมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2006 วัดแห่งนี้สร้างเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งลัทธิเต๋าแห่งนอร์ท

อ่านรีวิววัดฮานเจียง (Han Jiang Ancestral Temple) ฉบับเต็มได้ที่นี่

วัดฮานเจียง
วัดฮานเจียง

เวลา 11.50 น. ออกเดินทางจากวัดฮานเจียง ไปหาข้าวเที่ยวกินกันที่ ร้าน Yeap Noodles Cafe

เวลา 12.00 น. ถึงร้าน Yeap Noodles Cafe เป็นร้านที่ขายอาหารประเภทเส้น มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง เมนูแนะนำคือ Tom Yam Yeap Noodles Clams Soup (ต้มยำหอยลายสูตรของทาง Yeap Noodles) เข้มข้นกลิ่นหอยลาย และ Dry Wan Tan BBQ Pork Yeap Noodles เส้นเหลืองผัดหมูบาร์บีคิว เครื่องดื่มก็มีเป็นโกปี้ก็อร่อยเด็ด หรือ Layer Tea อันนี้ก็แปลกตารสชาติกลมกล่อม ลองแวะมาทานได้ รสชาติผมว่าคนไทยกินได้

อ่านรีวิวร้าน Yeap Noodles Cafe ฉบับเต็มได้ที่นี่

Dry Wan Tan BBQ Pork Yeap Noodles
Dry Wan Tan BBQ Pork Yeap Noodles

เวลา 12.30 น. ออกจากร้าน Yeap Noodles Cafe มุ่งหน้าสู่ วัดทียนหัว

เวลา 12.40 น. ถึงวัดเทียนหัว (Thean Hou Temple) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเทียนหัวกง (Thean Hou Kong Temple) หรือวัดไห่หนานปีนัง (Penang’s Hainan Temple)  เป็นวัดของชาวไห่หนาน ตั้งอยู่บนถนนมันทรี (Muntri Street) วัดนี้เป็นวัดที่มีขนาดเล็ก แต่สวยงาม มีเทพเจ้าม่าจ้อโป๋ และ เทพเจ้าซุยเวย

อ่านรีวิว วัดเทียนหัว (Thean Hou Temple) ฉบับเต็มได้ที่นี่

วัดเทียนหัว (Thean Hou Temple) ปีนัง
วัดเทียนหัว (Thean Hou Temple) ปีนัง

เวลา 13.00 น. ออกจากวัดเทียนหัว ไปยัง วัดแย็บและวัดฮกเต็กเจี่ยสิน

เวลา 13.30 น. ถึงวัดแย็บเป็นวัดเล็ก ๆ อยู่ตรงหัวมุมของถนนอาเมอร์เนียน ตรงสี่แยกเลย รูปร่างคล้าย ๆ ศาลเจ้า เป็นวัดของชาวจีนตระกูล Yap ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในปีนังช่วงศตวรรษที่ 19

วัดแยบ (Yap Temple)
วัดแยบ (Yap Temple)

อ่านรีวิว วัดแย็บ และ วัดฮกเต็กเจี่ยสิน ฉบับเต็มได้ที่นี่

ถัดมาอีกหน่อยไม่ไกลจากวัดแย็บ จะมาถึงวัดฮกเต็กเจี่ยสิน (Hock Teik Cheng Sin Temple) เป็นวัดของชาวฮกเกี้ยน สร้างเมื่อปี 1890 อายุราว 129 ปี  ด้านในมีรูปปั้นเทพเจ้าฮกเต็กเจี่ยสิน (福德正神) หรือที่คนไทยจะรู้จักในชื่อ ตี่จู๋เอี้ย (地主爺)

วัดฮกเต็กเจี่ยสิน (Hock Teik Cheng Sin Temple)
วัดฮกเต็กเจี่ยสิน (Hock Teik Cheng Sin Temple)

เวลา 13.45 น. ออกจากวัดฮกเต็กเจี่ยสิน ไปยัง บ้านสกุลคู

เวลา 14.15 น. ถึงบ้านสกุลคู (Khoo Kongsi) เป็นบ้านของตระกูลคู ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในปีนัง ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1890 โอ่โถงสวยงามดุจดั่งพระราชวังจีน

อ่านรีวิว บ้านสกุลคู (Khoo Kongsi) ฉบับเต็มได้ที่นี่

บ้านสกุลคู
บ้านสกุลคู

เวลา 14.40 น. ออกจากบ้านสกุลคู เพื่อตามหา Street Art

อ่านรีวิว Street Art รอบเมืองปีนังฉบับเต็มได้ที่นี่

Street Art สามล้อขายของ
Street Art สามล้อขายของ
Street Art คนช่วยกันผลัก
Street Art คนช่วยกันผลัก
Street Art เด็กขี่จักรยาน
Street Art เด็กขี่จักรยาน
Street Art "ONLY YOU CAN STOP"
Street Art “ONLY YOU CAN STOP”
Street Art กำแพงเก่า
Street Art กำแพงเก่า
Street Art เด็กขี่มอเตอร์ไซค์
Street Art เด็กขี่มอเตอร์ไซค์
Street Art คนใส่เสื้อธงมาเลเซีย เบอร์ 27
Street Art คนใส่เสื้อธงมาเลเซีย เบอร์ 27

เวลา 15.50 น. ถึง Seoul Garden แวะมาลองกินบุฟเฟ่ต์เกาหลีในเมืองปีนังสักหน่อย อยู่ในห้าง 1st Avenue ชั้น 4 มีอาหารให้เลือกหลากหลาย เครื่องดื่ม ของหวานพร้อม มีทั้งแบบต้มและย่าง ถือว่าคุ้มค่ากับราคาเลยทีเดียว ราคา 92.75 ริงกิต (680 บาท) ต่อสองคน หรือ 340 บาทต่อคน เวลา 90 นาที

อ่านรีวิว ร้าน Seoul Garden ฉบับเต็มได้ที่นี่

ปิ้ง ๆ
ปิ้ง ๆ

เวลา 15.50 น. ออกเดินทางจาก Seoul Garden เพื่อเดินทางสู่ หมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty

เวลา 18.00 น. ถึงหมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย มีทั้งอาหาร ของกิน ของฝากมากมาย ร้านแนะนำคือ Penang Chew Jetty E&W Puffs Ice-Cream เป็นร้านไอศกรีม และพัฟไส้ต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังมี Street Art ภายในหมู่บ้านนี้อีกด้วย สุดทางเดินยังมีศาลเจ้าและวิวทะเลสวย ๆ ของเมืองปีนัง

อ่านรีวิว หมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty ฉบับเต็มได้ที่นี่

ร้านค้าภายใน Chew Jetty
ร้านค้าภายใน Chew Jetty

เวลา 18.50 น. ออกจากหมู่บ้านชาวประมง Chew Jetty เพื่อออกเดินเล่น ๆ รอบเมืองปีนัง

บริเวณถนน China
บริเวณถนน China
บนถนน Gereja
บนถนน Gereja

Queen Victoria Memorial Clock Tower เป็นหอนาฬิกา สร้างขึ้นเมื่อปี 1897 โดยมหาเศรษฐีชาวจีนชื่อ Cheah Chen Eok เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ มีความสูง 60 ฟุต

Queen Victoria Memorial Clock Tower ปีนัง
Queen Victoria Memorial Clock Tower ปีนัง

ถนน Pantai เป็นถนนที่มีตึก อาคารสไตล์ยุโรป มาตรงถนนเส้นนี้ เหมือนได้ไปเที่ยวยุปโรปเลยลองแวะมาเก็บภาพกันดู

บนถนน Pantai
บนถนน Pantai

Department of Religious Affairs กรมศาสนา บนถนน Pantai เป็นอีกมุม อีก Short ที่ไม่ควรพลาด เพราะอาคารบนถนนเส้นนีมีความสวยงามสไตล์ฝรั่งเศส เหมือนเราได้มาอีกประเทศหนึ่งเลยก็ว่าได้

Department of Religious Affairs บนถนน Pantai
Department of Religious Affairs บนถนน Pantai

Esplanade Park เป็นสวนหย่อมที่เกินกว่าสวนหย่อมไปหน่อย ซึ่งอยู่ด้านหน้าศาลาว่าการเมืองปีนัง เป็นลานกว้างไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวเมืองปีนังเช่น ออกกำลังกาย นั่งพักผ่อน เป็นต้น

Esplanade Park
Esplanade Park

Penang Chinese Chamber Of Commerce อาคารหอการค้าจีนประจำเมืองปีนัง ด้านล่างอาคารก็เต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหารมากมายมีทั้ง Subways ร้านคาเฟ่ท้องถิ่น ที่สำคัญได้บรรยากาศย้อนยุคอีกด้วย

Penang Chinese Chamber Of Commerce
Penang Chinese Chamber Of Commerce

ถนน King เป็นถนนอีกเส้นหนึ่งที่มีความ Heritage มาก สามารถเดินมาเผื่อถ่ายรูปได้จะได้วิวสวย ๆ แบบย้อนยุค

บนถนน King
บนถนน King

โบสถ์ Church of the Assumption สร้างเมื่อปี 1786 เมื่อกัปตัน Francis Light ได้เดินทางมาที่เมืองปีนังเป็นครั้ง และเป็นโบสถ์คาทอลิคที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองปีนัง

โบสถ์ Church of the Assumption
โบสถ์ Church of the Assumption

The Blue Mansion หรือ คฤหาสน์เฉิงฟัตเจ๋อ (Cheong Fatt Tze Mansion) สร้างขึ้นในปี 1880 และเคยเป็นที่พักของเฉิงฟัตเจ๋อ บุคคลสำคัญของจีน The Blue Mansion เป็นทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และเปิดให้เข้าชมบ้านของเฉิงฟัตเจ๋อ มีเวลาเปิด-ปิด และมีค่าเข้าชม

The Blue Mansion (Guided Tours)
The Blue Mansion (Guided Tours)

เวลา 22.50 น. เดินทางมาถึง Ah Lan Cafe เพื่อแวะหาอะไรทานก่อนเข้าที่พัก Ah Lan Cafe เป็นร้านอาหารเล็ก ๆ มีร้านย่อย ๆ อยู่ 2 – 3 ร้าน มีทั้งร้านข้าวและร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านน้ำ เมนูแนะนำก็คือ ก๋วยเตี๋ยวแห้งเผ็ด ลองแวะมาทานดูนะครับ

อ่านรีวิว อาลานคาเฟ่ (AH LAN CAFE) ฉบับเต็มได้ที่นี่

ร้านอาหารใน AH LAN CAFE
ร้านอาหารใน AH LAN CAFE

เวลา 23.15 น. เดินทางกลับสู่ที่พัก

วันที่ห้า (29 สิงหาคม 2562)

เวลา 11.00 น. ดำเนินการ Checkout และออกจากโรงแรมที่พัก เดินทางสู่ท่าเรือเฟอร์รี่

ทางเดินกลับยังท่าเรือเฟอร์รี่
ทางเดินกลับยังท่าเรือเฟอร์รี่

เวลา 11.20 น. ออกเดินทางจากเกาะปีนัง เพื่อเดินทางสู่สถานีรถไฟฟ้าบัตเตอร์เวิร์ท โดยเรือเฟอร์รี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ค่าโดยสารไม่ต้องเสีย ฟรี

ภายในเรือเฟอร์รี่
ภายในเรือเฟอร์รี่

เวลา 11.40 น. เดินถึงยังบัตเตอร์เวิร์ท (Penang Sentral)

ท่าเรือที่ Penang Sentral
ท่าเรือที่ Penang Sentral

เดินตามเดิมที่เราเข้ามา หากจำไม่ได้ย้อนกลับไปอ่านด้านบน (อิอิอิ) เดินเข้าไปยัง Penang Sentral เพื่อแวะหาอะไรกินอีกสักหน่อยก่อนกลับ

ทางเข้า Penang Sentral
ทางเข้า Penang Sentral

ร้านแรกเลยแล้วกันขอดื่มกาแฟสักหน่อยที่ร้าน Starbucks ใน Penang Sentral ซื้อเป็น ลาเต้เย็น 1 แก้ว 15.90 ริงกิต (117 บาท) และชาเขียวปั่น ราคา 17 ริงกิต (125 บาท)

ร้าน Starbucks
ร้าน Starbucks

ถัดมาอีกหน่อยแวะมากินไก้กรอบที่ร้าน 4 FINGERS มีทั้งไก่กรอบและก้งทอดกรอบ อร่อยเหาะมาก ได้ข่าวที่ไทยก็มีแต่ไม่เคยไปกินเลย แวะมากินไกลถึงมาเลเซียเลย

อ่านรีวิว ร้าน 4 FINGERS ฉบับเต็มได้ที่นี่

ชุดไก่ไม่มีกระดูก
ชุดไก่ไม่มีกระดูก

ด้านนอกร้านยังมีลานกว้างให้นั่งกิน หรือชมวิวได้อีกด้วย ได้เห็นถึงเกาะปีนังและสะพานปีนัง (Penang Bridge) อีกด้วย

วิวด้านอก
วิวด้านอก

จวนจะได้เวลากลับแล้วสิ เราก็เดินกลับโดยใช้เส้นทางเดิม ไปยังสถานีบัตเตอร์เวิร์ท เพื่อซื้อตั๋วรถไฟฟ้า KTM Komutor กลับไปยังปาดังเปซาร์ ราคา 11.40 ริงกิต ต่อ 1 คน

ตั๋ว KTM Komutor ขากลับ
ตั๋ว KTM Komutor ขากลับ

เวลา 12.25 น. ออกเดินทางจากบัตเตอร์เวิร์ท มุ่งหน้าสู่ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย โดยรถไฟฟ้า KTM Komutor ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที

สถานีบัตเตอร์เวิร์ท
สถานีบัตเตอร์เวิร์ท

เวลา 14.15 น. เดินทางถึงปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นที่เรียบร้อย

สถานีปาดังเบซาร์
สถานีปาดังเบซาร์

พอมาถึงแล้วยังไม่ใช่เวลาจำหน่ายตั๋วรถไฟ เพราะรถไฟไทยจะเปิดจำหน่ายตั๋ว 2 รอบคือ รอบเช้า 09.00 น. และ รอบบ่าย 14.30 น. เวลาตามมาเลเซีย หลังจากได้ตั๋วรถไฟแล้ว เราก็ต้องรอให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียเปิดก่อน ซึ่งเวลาจะไม่ได้กำหนดแน่นอน โดยจะเปิดเมื่อมีขบวนรถไฟจากไทยมาถึง ถึงจะเปิดด่านได้

ป้ายการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ปาดังเบซาร์
ป้ายการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ปาดังเบซาร์
เวลาจำหน่ายตั๋วรถไฟ ที่ปาดังเบซาร์
เวลาจำหน่ายตั๋วรถไฟ ที่ปาดังเบซาร์

เมื่อได้เวลาด่านเปิด ประมาณ 15.30 น. เราก็ลงตราเพื่อออกจากประเทศมาเลเซียก่อน แล้วเดินกลับมาที่ฝั่งไทยเพื่อลงตราขอกลับเข้าประเทศ เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เราก็ต้องนั่งรอรถไฟ ซึ่งเราได้รถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 46 ต้นทาง ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) รถออกเวลา 17.00 น. ถึงปลายทาง กรุงเทพมหานคร เวลา 10.10 น. 

ภายในด่านตรวจคนเข้าเมือง
ภายในด่านตรวจคนเข้าเมือง

เวลา 17.00 น. ออกเดินทางจาก ปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย มุ่งหน้าสู่ กรุงเทพมหานคร โดยรถไฟตู้นอนดวนพิเศษ ขบวนที่ 46 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 ชั่วโมง

วันที่หก (30 สิงหาคม 2562)

เวลา 11.00 น. เดินทางถึงสถานีชุมทางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยสวัสดิภาพ

สรุปทริป

เป็นทริปที่มีความสนุกมาก ๆ ได้ทั้งนั่งรถไฟไทย และรถไฟของมาเลเซีย เป็นทริปที่เสียเงินน้อยแต่ได้คุ้มค่ามากมาย ทั้งประสบการณ์การเดินทาง ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการพักโรงแรมแบบบ๊อกซ์เทล และได้เที่ยวชมเมืองมรดกโลกและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองปีนัง และที่สำคัญเลยได้รู้จักวัฒนธรรม และลองชิมอาหารปีนังมากมาย รวมใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 6 วัน 5 คืน โดยแบ่งเป็นการเดินทาง 2 คืน และเวลาอยู่จริงที่ปีนังประมาณ 4 วัน 3 คืน

จำนวนผู้เดินทางทั้งหมด 2 คน

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด

รายละเอียด ราคา (ริงกิต) ราคา (บาท)
ค่าโรงแรม Container Hotel 3 คืน   1,175.94
ค่ารถไฟไทย ไป-กลับ เตียงบน-ล่าง กทม – ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย)   3,660.00
ค่ารถไฟ KTM Komutor ไป-กลับ ปาดังเบซาร์ – บัตเตอร์เวิร์ท 45.60  
ค่าเรือเฟอร์รี่ ไป-กลับ บัตเตอร์เวิร์ท – เกาะปีนัง 2.40  
ค่ารถประจำทางทั้งทริป 10.80  
ค่าขึ้นปีนังฮิลล์ 60.00  
ค่าเข้าบ้านสกุลคู 20.00  
ค่าบุฟเฟ่ต์ Seoul Garden 92.75  
ค่ากิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยประมาณ 171.30  
รวมทั้งหมด

402.85

(2,950 บาท)

4,835.94
    7,785.94
เฉลี่ยต่อ 1 คน   3,892.97

** ใช้เรท 7.32 บาท ต่อ 1 ริงกิต ** หากตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างออกไปจะทำให้ทริปนี้ราคาถูกกว่านี้ เช่น ค่าบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button